เผยผลตรวจ `พัฒนาการเด็กไทย` ยังน่าห่วง

รวบรวมข้อมูลโดย ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี
       สธ.เผยผลตรวจพัฒนาการเด็กล่าสุด พบลดลงจากปีก่อนจาก 30% เหลือ 20% แต่ยังห่วงบางพื้นที่เขตสุขภาพพัฒนาการเด็กบางแห่งยังล่าช้ากว่า 46% ระบุเร่งติดตามกระตุ้นพัฒนาการ และประเมินซ้ำเมื่อครบ 1 เดือนตามขั้นตอน
       เมื่อวันที่ 14 ส.ค. ที่ผ่านมา ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินงานรณรงค์ตรวจคัดกรองพัฒนาการเด็กอายุ 42 เดือนทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 6-10 ก.ค. 2558 ในโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ว่า ผลการคัดกรองเด็กจำนวน 59,514 คน พบว่า ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ สามารถคัดกรองได้ 57,889 คน ครอบคลุมเด็กร้อยละ 97 โดยเด็กร้อยละ 80 มีพัฒนาการปกติ มีเด็กที่สงสัยพัฒนาการล่าช้าร้อยละ 20 หรือ 11,292 คน เจ้าหน้าที่จะติดตามกระตุ้นพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง และประเมินซ้ำเมื่อครบ 1 เดือน หากยังมีความผิดปกติจะส่งต่อพบผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็กตามระบบที่วางไว้
        "การคัดกรองครั้งนี้มีข้อสังเกตว่า บางเขตสุขภาพพบเด็กสงสัยพัฒนาการล่าช้าสูงถึงร้อยละ 46 บางเขตพบเพียงร้อยละ 10 จึงได้ให้กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต และเขตสุขภาพ สุ่มประเมินแต่ละจังหวัด ติดตามประเมินคุณภาพข้อมูล อาทิ ความรู้ ทักษะ ความชำนาญเจ้าหน้าที่ผู้คัดกรองเด็ก โดยมีเจ้าหน้าที่ที่ผ่านการอบรมกว่า 5,500 คนทั่วประเทศเป็นพี่เลี้ยง เพื่อให้การดำเนินงานระยะต่อไปเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ" รมว.สธ. กล่าว
        นพ.คำรณ ไชยศิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ สธ. กล่าวว่า รายงานผลสำรวจพัฒนาการเด็กปฐมวัยทุก 3 ปี ของกรมอนามัย ตั้งแต่ปี 2542-2557 พบเด็กไทยร้อยละ 30 มีพัฒนาการล่าช้า สธ.จึงเร่งแก้ไขร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กรมแพทย์ทหารบก และ กทม. จัดทำโครงการดังกล่าวขึ้น เน้นเฝ้าระวัง ส่งเสริมพัฒนาการเด็กตั้งแต่แรกเกิด- 5 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. 2558 - 31 มี.ค. 2561 ตั้งเป้าหมายเด็กไทยมีพัฒนาการสมวัยร้อยละ 85 โดยใช้เครื่องมือที่พัฒนาขึ้นใหม่ 2 ฉบับ คือ คู่มือเล่มเขียว ใช้ประเมินและส่งเสริมพัฒนาการเด็กกลุ่มเสี่ยงพัฒนาการล่าช้า เช่น เด็กขาดออกซิเจนแรกเกิด เด็กน้ำหนักตัวน้อย และคู่มือเล่มสีขาว เฝ้าระวังเด็กและส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยทั่วไป ใช้สำหรับพ่อแม่ ผู้ดูแลเด็ก เพื่อดูแลกระตุ้นพัฒนาการเด็ก ส่วนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะคัดกรองและกระตุ้นพัฒนาการเด็กทุกคน 4 ช่วงอายุคือ 9, 18, 30 และ 42 เดือน ซึ่งมีผลวิจัยว่ากลุ่มเด็กที่สงสัยพัฒนาการล่าช้า เมื่อได้รับการดูแลกระตุ้นพัฒนาการกว่าร้อยละ 65 จะกลับมาเป็นปกติได้
 
ที่มา : ASTV ผู้จัดการออนไลน์
 

เผยผลตรวจพัฒนาการเด็กไทยยังน่าห่วง.pdf

  View : 5.40K


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง


 วันนี้ 360
 เมื่อวาน 1,317
 สัปดาห์นี้ 1,726
 สัปดาห์ก่อน 5,143
 เดือนนี้ 7,055
 เดือนก่อน 33,046
 จำนวนผู้เข้าชม 888,733
  Your IP : 3.149.28.7